คลังข้อมูลสุขภาพ

(Health Data Center – HDC)


สถานการณ์ปัจจุบัน (Setting)
          ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพ ทุกหน่วยบริการจะมีการบันทึกข้อมูลการให้บริการประจำวันในโปรแกรมระบบสารสนเทศของหน่วยบริการ (Hospital Information System – HIS) ซึ่งมีหลากหลายโปรแกรม และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่บันทึกไว้จัดทำเป็นสารสนเทศเพื่อใช้พัฒนาการบริการของหน่วยบริการ จากนั้นให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลให้มากขึ้นจึงมีการรวบรวมข้อมูลที่หน่วยบริการบันทึกไว้มารวบรวมไว้ที่ระดับที่สูงขึ้น เช่น อำเภอ จังหวัด กระทรวง จัดทำเป็นสารสนเทศในการปฏิบัติตามภารกิจของแต่ละระดับที่เกี่ยวข้องเป็นศุนย์รวมข้อมูลในแต่ละระดับ ในเอกสารฉบับนี้ใช้คำว่า “คลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center – HDC)” แทนการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยบริการเป็นศูนย์รวมข้อมูลสุขภาพ
          กรอบในการพัฒนาคลังข้อมูลสุขภาพประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. การรวบรวมข้อมูลเข้าสู่คลังข้อมูลสุขภาพ (Data Center) 2. ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Network) 3. สารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographical Information System – GIS) 4. การใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Utilization) 5. ความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ในเอกสารฉบับนี้จะกล่าวถึงเฉพาะในข้อ 1 และข้อ 5 เนื่องจากระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตขึ้นอยู่กับการตลาดของผู้ให้บริการและงบประมาณในการลงุทน ส่วนข้อ 3 และข้อ ขึ้นอยู่แนวคิดการออกแบบระบบซึ่งต้องมีข้อมูลที่ดีจึงจะได้ระบบที่น่าเชื่อถือ อันเนื่องจากการพัฒนาองค์ประกอบในข้อ 1 ร่วมกับองค์ประกอบในข้อ 5

ภาพที่ 1 กรอบการพัฒนาคลังข้อมูลสุขภาพ

ปัจจุบันการพัฒนาคลังข้อมูลสุขภาพอาจแบ่ง ได้เป็น 4 แบบ กล่าวคือ
     1คลังข้อมูลสุขภาพที่เป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุข (แบบที่ 1) พัฒนาโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ร่วมกับสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกว่า Health Data Center หรือ HDC เป็นระบบที่หน่วยบริการทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการในทุกจังหวัด มีกระบวนการทำงานดังนี้
(1)    ข้อมูลที่นำเข้าระบบ ใช้แฟ้มข้อมูลตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 43 แฟ้มมาตรฐาน ดูรายละเอียดที่ http://thcc.or.th
(2)    ระยะเวลาในการส่งข้อมูล แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
-     ข้อมูลผู้ป่วยนอกรายบุคคลของหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
-     ข้อมูลผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ส่งภายในวันสิ้นเดือน ของเดือนถัดไป
(3)    แหล่งรับข้อมูล มี 2 แหล่งคือ HDC ที่ Cloud ของกระทรวงสาธารณสุข และ HDC ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กำหนดให้ทุกหน่วยบริการส่งข้อมูลไปที่ HDC ที่กระทรวงสาธารณสุขก่อนที่ระบบจะส่งต่อข้อมูล (Sync) มาที่ HDC ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ภาพที่ 2 การทำงานของ HDC กระทรวงสาธารณสุข

ข้อสังเกต
(1)    ข้อมูลไม่เพียงพอในการใช้งาน เนื่องจากข้อมูลนำเข้ามาจาก 43 แฟ้มมาตรฐานเท่านั้น
(2)    การส่งข้อมูลเป็นภาระของหน่วยบริการในการส่งออกข้อมูล 43 แฟ้มแล้วส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทาง E-mail หรือ อัพโหลดเข้าสู่ HDC
(3)    ข้อมูลไม่ทันเวลาเนื่องจากใช้วิธีการส่งเป็นก้อนข้อมูล (Data Bulk) ตามเวลาที่กำหนดอยู่ในช่วง 15 วันถึง 1 เดือน แต่ในความเป็นจริงล่าช้ามากกว่า 2 เดือน กว่าจะได้ข้อมูลครบทุกหน่วยบริการ
(4)    ไม่มีค่าใช้จ่ายเนื่องจากกระทรวงพัฒนาเอง

2. คลังข้อมูลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานสาธารณสุขในระดับจังหวัด (แบบที่ 2) เป็นระบบที่พัฒนาโดยบุคลากรของบางจังหวัด อาทิ TAKIS พัฒนาโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก, WM Manager พัฒนาโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี, Hosxptools พัฒนาโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, SData พัฒนาโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ โปรแกรมเหล่านี้มีกระบวนการทำงานที่คล้ายคลึงกันดังนี้
(1)    ข้อมูลที่นำเข้าระบบ ไม่จำกัดเฉพาะ 43 แฟ้มมาตรฐานเพราะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่จะพัฒนาโปรแกรมไปติดตั้งที่หน่วยบริการเพื่อดึงชุดข้อมูลที่ต้องการจากฐานข้อมูล HIS ของหน่วยบริการ แล้วส่งข้อมูลไปที่คลังข้อมูลสุขภาพที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
(2)    ระยะเวลาในการส่งข้อมูล สามารถส่งได้ทุกวันเวลาที่ต้องการขึ้นอยู่การกำหนดค่าในโปรแกรมเป็นระบบอัตโนมัติ
แหล่งรับข้อมูล คือ ฐานข้อมูลคลังข้อมูลสุขภาพที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด


ภาพที่ 3 การทำงานของ TAKIS

ข้อสังเกต
(1)    ข้อมูลมีมากขึ้นเนื่องจากสามารถกำหนดชุดข้อมูลเพิ่มเติมจาก 43 แฟ้มมาตรฐานได้
(2)    ความทันเวลาในการใช้งานมีมากขึ้น เนื่องจากสามารถกำหนดเวลาส่งเองได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องให้เป็นภาระของหน่วยบริการในการส่งข้อมูล
(3)    ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเนื่องจากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนา

3. คลังข้อมูลสุขภาพที่พัฒนาโดยสถาบันการศึกษา (แบบที่ 3) ระบบที่น่าสนใจได้แก่ Thai Care Cloud พัฒนาโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีกระบวนการทำงานดังนี้
(1)    ข้อมูลที่นำเข้าระบบ ไม่จำกัดเฉพาะ 43 แฟ้มมาตรฐานเช่นเดียวกับแบบที่ 2 แต่จะพัฒนาโปรแกรมไปติดตั้งที่หน่วยบริการเพื่อดึงชุดข้อมูลที่ต้องการจากฐานข้อมูล HIS ของหน่วยบริการเรียกว่า TCC Bot
(2)    ระยะเวลาในการส่งข้อมูล สามารถส่งได้ทุกวันเวลาที่ต้องการขึ้นอยู่การกำหนดค่าในโปรแกรมเป็นระบบอัตโนมัติ
(               (3)    แหล่งรับข้อมูล คือ ฐานข้อมูล Thai Care Cloud (TCC) ปัจจุบันอยู่ที่ CAT ขอนแก่น
         
ภาพที่ 4 การทำงานของ Thai Care Cloud
          
           ข้อสังเกต
(1)    ข้อมูลมีมากขึ้นเนื่องจากสามารถกำหนดชุดข้อมูลเพิ่มเติมจาก 43 แฟ้มมาตรฐานได้
(2)   ความทันเวลาในการใช้งานมีมากขึ้น เนื่องจากสามารถกำหนดเวลาส่งเองได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องให้เป็นภาระของหน่วยบริการในการส่งข้อมูล
(3)    ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเนื่องจากพัฒนาโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

4. คลังข้อมูลสุขภาพที่พัฒนาโดยเอกชน (แบบที่ 4) ได้แก่ ระบบคลังข้อมูลสุขภาพของ บริษัท Bangkok Medical Software (BMS) มีกระบวนการทำงานดังนี้
(1)    ข้อมูลที่นำเข้าระบบ ส่งฐานข้อมูลทั้งหมดของ HIS (HOSxP, HOSxP-PCU) เข้าสู่คลังข้อมูลสุขภาพ
(2)    ระยะเวลาในการส่งข้อมูล สามารถส่งได้ทุกวันเวลาที่ต้องการ
(3)    แหล่งรับข้อมูล คือ ฐานข้อมูลคลังข้อมูลสุขภาพที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (BMS Datacenter)

ภาพที่ 5 การทำงานของ BMS-Datacenter

ข้อสังเกต
(1)    ข้อมูลมีมากขึ้นเนื่องจากเป็นส่งฐานข้อมูลทั้งหมดของ HIS (HOSxP, HOSxP-PCU) ทุกหน่วยบริการเข้าสู่คลังข้อมูลสุขภาพ
(2)    ความทันเวลาในการใช้งานมีมากขึ้น เนื่องจากสามารถกำหนดเวลาส่งเองได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องให้เป็นภาระของหน่วยบริการในการส่งข้อมูล
(3)    มีค่าใช้จ่ายในส่วนของโปรแกรมคลังข้อมูลสุขภาพที่จังหวัด และค่าลิขสิทธ์ในการเชื่อมต่อข้อมูลของทุกหน่วยบริการ
(4)    คลังข้อมูลสุขภาพที่จังหวัดมีภาระในการประมวลผลข้อมูลสูง ต้องลงทุนอุปกรณ์เครื่องแม่ข่ายสูงพอสมควร และใช้ Network bandwidth มาก
ปัญหาที่พบใน HDC ของกระทรวงสาธารณสุข
          HDC ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นระบบที่ทุกหน่วยบริการต้องถือปฏิบัติ แต่พบว่าเป็นระบบที่ขาดความถูกต้องของข้อมูลมาก สังเกตจากรายงานข้อมูลต่างๆต่ำกว่าทึ่ควรจะเป็นและข้อมูลจำนวนหนึ่งไม่สามารถเรียกดูจาก HDC ได้ กล่าวโดยสรุปเนื่องจากปัญหาต่างๆดังนี้
1. ความครบถ้วนของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลใน HDC เป็นข้อมูลจาก 43 แฟ้มมาตรฐาน ยังไม่ตอบโจทย์ 3 ยุทธศาสตร์ (ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกลุ่มวัย, บริการสุขภาพ, บริหารเพื่อสนับสนุนบริการ) ห่วงโซ่คุณค่าของการบริการสุขภาพ (Acute care, Intermediate Care, Continuity of Care, Long Term Care, Palliative Care) การพัฒนาระบบสารสนเทศและรายงานต่างๆจึงทำได้ไม่ครบถ้วน ทำให้หน่วยงานระดับกรมวิชาการที่ต้องการข้อมูลจึงผลิตโปรแกรมเฉพาะงาน (Vertical Program) ขึ้นมาเป็นจำนวนมากยิ่งซ้ำเติมภาระการบันทึกข้อมูลขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก
2. ความทันเวลาของข้อมูล เนื่องจากมีกำหนดเวลาในการส่งข้อมูลเดือนถัดไป และขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงานส่งออกด้วยตัวเองจากโปรแกรม HIS ของหน่วยบริการ  กว่าจะได้ข้อมูลครบถ้วนทุกหน่วยบริการจึงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน ไม่ทันต่อการใช้งาน
3. นโยบายการใช้ข้อมูลมาแลกเงิน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีพฤติกรรมให้ความสำคัญของข้อมูลที่ได้เงินมากว่าข้อมูลที่ไม่ได้เงินเป็นผลให้ข้อมูลเบี่ยงเบนมาทางข้อมูลที่ได้เงินมากกว่า
4.  ความปลอดภัยของข้อมูล ผู้ปฏิบัติงานยังขาดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วยมีการส่งข้อมูลผู้ป่วยในเครือข่ายสังคมสาธารณะ เช่น LINE, Facebook ฯลฯ กันอย่างแพร่หลายโดยขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ
5. คุณภาพของข้อมูล จากการตรวจสอบเบื้องต้นของจังหวัดสุรินทร์ พบว่า ปัญหาความถูกต้องของข้อมูลจำนวนมาก ดังตัวอย่าง
(1)    แฟ้ม PERSON พบ เลข 13 หลักไม่ถูกต้อง, ข้อมูลเพศไม่ถูกต้อง, ข้อมูลวันเดือนปีเกิดไม่ถูกต้อง, Typearea ไม่ถูกต้อง
(2)    แฟ้ม CHRONIC พบ ไม่มีรหัสโรค, ไม่มีวันเดือนปีที่เริ่มป่วย
(3)    แฟ้ม CHRONICFU พบ ไม่มีวันที่ตรวจ, ค่าส่วนสูง <= 0 ซม., ค่าความดันซิสโตลิต (SBP) 0 mmHg
(4)    แฟ้ม LABFU พบ ไม่มีวันที่ตรวจ, ค่า Total Cholesterol <= 50 mg/dl
(5)    แฟ้ม NCDSCREEN พบ ไม่มีวันที่ตรวจ, ค่า Total Cholesterol <= 50 mg/dl
(6)    ตรวจสอบการบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยโรคด้วย ICD ตามกฎพื้นฐาน 12 ข้อ พบข้อผิดพลาดถึงร้อยละ 16.78
(7)    ตรวจสอบจำนวนการบันทึกรหัสการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) ในฐานข้อมูล 43 แฟ้มทั้งจังหวัดเทียบกับจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจากการคำนวณ eGFR โดย Serum Creatinine ทุกระยะพบว่ามีการบันทึกรหัสการวินิจฉัยเป็น CKD เพียงร้อยละ 11.43 (11,499/100,626) เท่านั้น 
นอกจากนั้นบางแฟ้ม เช่น REHABLITATION, COMMUNITY_SERVICE, FUNCTIONAL, COMMUNITY_ACTIVITY มีข้อมูลน้อยมาก แฟ้มเหล่านี้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา Intermediate Care, Continuity of Care, Long Term Care, Palliative Care
จะเห็นได้ว่ามีปัญหาความถูกต้องของข้อมูลใน HDC ของกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก ส่งผลให้เมื่อประมวลผลข้อมูลจาก HDC เป็นรายงานจึงดูต่ำมากจนไม่น่าเชื่อถือ

ข้อเสนอในการพัฒนา HDC ของกระทรวงสาธารณสุข
          การพัฒนา HDC ควรมีการกำหนดเป้าหมายให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหน่วยบริการ (Hospital-based) และประชาชน (eHealth และ Personal Health Record – PHR) รองรับสังคมดิจิตอลในอนาคต ข้อมูลจึงควรมีความถูกต้อง มีความสดใหม่ สะดวกในการใช้งาน และมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ขอเสนอแนวทางการพัฒนา HDC ดังต่อไปนี้
1.การออกแบบชุดข้อมูลมาตรฐาน ควรมีการออกแบบชุดข้อมูลมาตรฐานใหม่ ให้ครอบคลุม 3 ยุทธศาสตร์ (ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกลุ่มวัย, บริการสุขภาพ, บริหารเพื่อสนับสนุนบริการ) 5 ห่วงโซ่คุณค่าของการบริการสุขภาพ (Acute care, Intermediate Care, Continuity of Care, Long Term Care, Palliative Care) ไม่ใช่ดำเนินการแบบในปัจจุบันที่ค่อยๆเพิ่มแฟ้มตามปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีภาระในการทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับสูงมาก สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย และควรออกแบบให้สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Information Exchange) ของประชาชนได้ด้วย (Personal Health Record – PHR)
2.การออกแบบสถาปัตยกรรมในการส่งข้อมูลเข้า HDC ควรออกแบบระบบในการส่งข้อมูลเข้าสู่ HDC ใหม่เปลี่ยนจากแบบเดิมในแบบที่ 1 ซึ่งมีกำหนดเวลาในการส่งและขึ้นกับการส่งข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานสูงมาพิจารณาออกแบบเป็นแบบที่ 2 หรือ แบบที่ 3 เพื่อให้ข้อมูลมีความทันเวลา (Real time) มากกว่าในปัจจุบัน และลดภาระการส่งข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานได้เนื่องจากเป็นการส่งแบบอัตโนมัติ
3. มาตรฐานของระบบข้อมูลสุขภาพ ควรมีจัดทำมาตรฐานของระบบข้อมูลสุขภาพ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ากระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือมาตรฐานนี้แล้วในปีงบประมาณ 2559 นี้ ได้แก่
1)      มาตรฐานการเก็บรวบรวมและบันทึกขอมูลในสถานพยาบาล พ.ศ. 2559
2)      มาตรฐานการสงออกขอมูลตามแฟมมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2559
3)      การวิเคราะหขอมูลและการจัดทําสถิติสถานพยาบาล  พ.ศ. 2559
4)      มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยของขอมูลผูปวย พ.ศ. 2559
ควรกำกับให้มีการปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
4. คลังข้อมูลสุขภาพอำเภอ ควรจัดตั้งคลังข้อมูลสุขภาพอำเภอในทุกอำเภอเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลระดับอำเภอ มีคณะกรรมการและผู้รับผิดชอบของโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่ชัดเจน ในการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลในคลังข้อมูลสุขภาพอำเภอ หากพบว่ามีข้อมูลที่ผิดพลาดต้องแจ้งให้หน่วยบริการทราบเพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนส่งเข้าคลังข้อมูลสุขภาพอำเภอใหม่ก่อนรวบรวมส่งคลังข้อมูลสุขภาพกระทรวง/จังหวัด (ถ้าระบบการส่งข้อมูลเข้า HDC ยังเป็นแบบที่ 1)
5.การตรวจสอบคุณภาพข้อมูลระดับจังหวัด/อำเภอ จังหวัดควรมีกลไกในการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลของหน่วยบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยโรคตามรหัส ICD และมีการติดตามในที่ประชุมผู้บริหารอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง (ปีงบประมาณ 2559 กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้มีคณะกรรมการจังหวัด/อำเภอทำการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลแล้วจึงควรมีการดำเนินการตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง)
6.การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ควรจัดทำรายงานและสารสนเทศคืนให้ผู้ปฏิบัติงานเพื่อติดตามงานและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และควรมีระบบสารสนเทศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ว่าเคยรับบริการที่ใด ได้รับการวินิจฉัย/การรักษาเป็นอย่างไร ฯลฯ (Personal Health Record – PHR)
         การกำหนดนโยบายนำข้อมูลมาแลกเงินควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมในการบันทึกข้อมูลได้ ควรใช้ข้อมูลมาใช้ในการบริหารเชิงวิชาการมากกว่าจะให้มีผลได้เสียกับผู้ปฏิบัติงาน 


เรียบเรียงโดย ภก.ทอง บุญยศ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์
1

ดูความคิดเห็น

    กำลังโหลด